สารเคมีอันตราย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
ปรับปรุงล่าสุด: 1 มีนาคม 2564

สารเคมีอันตราย หมายถึง สารเคมีที่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งผลกระทบอย่างฉับพลันหรือเรื้อรัง มักรวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogen) สารพิษ สารพิษที่ก่อให้เกิดผลต่อระบบสืบพันธุ์ (reproductive toxins) สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (irritants)  สารที่ส่งผลต่อระบบเลือด ระบบประสาท เป็นต้น ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ได้ ให้ความหมายของ สารเคมีอันตราย ว่าหมายถึง สาร สารประกอบ สารผสม ซึ่งอยู่ในรูปของของแข็ง ของเหลวและแก๊ส ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

  1. มีพิษ กัดกร่อน ระคายเคือง ทำให้เกิดอาการแพ้ ก่อมะเร็งหรือทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย
  2. ทำให้เกิดการระเบิด เป็นตัวทำปฏิกิริยาที่รุนแรง เป็นตัวเพิ่มออกซิเจนหรือไวไฟ
  3. มีกัมมันตภาพรังสี

ประเภทของสารเคมีอันตราย

ในประเทศไทยการแบ่งประเภทของสารเคมีอันตราย ได้ยึดระบบสหประชาชาติ ที่ใช้อยู่แล้วกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก (international classification system) ซึ่งแบ่งสารเคมีอันตรายออกเป็น 9 ประเภท

  1. สารที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้ (explosives
  2. แก๊ส : ในรูปของเหลวอัดความดันหรืออยู่ในรูปของสารละลายภายใต้ความดัน
  3. ของเหลวไวไฟ
  4. ของแข็งไวไฟ ซึ่งสามารถลุกไหม้ได้เอง และสารที่เมื่อสัมผัสกับน้ำแล้วจะปล่อยแก๊สไวไฟออกมา
  5. สารออกซิไดซ์ และสารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์
  6. สารพิษ และสารที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ
  7. สารกัมมันตรังสี
  8. สารที่ทำให้เกิดการกัดกร่อน
  9. สาร หรือวัตถุอื่น ที่อาจเป็นอันตรายได้

 

ตารางการจัดหมวดหมู่ของสารเคมีอันตราย

ประเภท รหัส คำจำกัดความ ตัวอย่าง
สารที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้ 1.1 สาร หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตราย จากการระเบิดอย่างรุนแรง วัตถุระเบิด, ยุทธภัณฑ์
1.2 สาร หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยการกระจายของสะเก็ด เมื่อเกิดการระเบิด แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย จากการระเบิดอย่างรุนแรง พลุ, ดอกไม้ไฟบางชนิด
1.3 สาร หรือสิ่งซึ่งก่อให้เกิดอันตราย จากเพลิงไหม้ ตามด้วยการระเบิด หรืออันตราย จากการกระจายของสะเก็ดบ้าง หรือเกิดอันตรายทั้งสองอย่าง แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย จากการระเบิดอย่างรุนแรง พลุ, ดอกไม้ไฟบางชนิด
1.4 สาร หรือสิ่งซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก ผลของการระเบิดจำกัดอยู่ในเฉพาะหีบห่อ ไม่มีการกระจายของสะเก็ด ประทัด, ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในการฝึกซ้อม
1.5 สารที่ไม่ไวต่อการระเบิด แต่ถ้าเกิดการระเบิด จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับสารในข้อ 1.1 Explosive slurries, emulsion, water gel (type E explosives)
1.6 สารที่ไม่ว่องไว หรือเฉื่อยชามาก ต่อการระเบิด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง จากการระเบิด
แก๊ส 2.1 แก๊สไวไฟ แก๊สหุงต้ม
2.2 แก๊สไม่ไวไฟ ไม่เป็นพิษ และไม่กัดกร่อน แก๊สไนโตรเจน
2.3 แก๊สพิษ (Poisonous gas) คลอรีน, ไซยาไนด์
2.4 แก๊สกัดกร่อน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ของเหลวไวไฟ 3.1 ของเหลวที่มีจุดวาบไฟน้อยกว่า -18°C Gasoline
3.2 ของเหลวที่มีจุดวาบไฟน้อยกว่า -18 ถึง 23°C แอซิโตน
3.3 ของเหลวที่มีจุดวาบไฟน้อยกว่า 23 ถึง 61°C เมทานอล
ของแข็งไวไฟ 4.1 ของแข็งซึ่งขนส่งในสภาวะปกติ เกิดติดไฟ และลุกไหม้อย่างรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุจากการเสียดสี หรือจากความร้อนที่ยังหลงเหลืออยู่ จากกระบวนการผลิต หรือปฏิกิริยาของสารเอง ฟอสฟอรัส หรือไม้ขีดไฟ
4.2 สารที่ลุกติดไฟได้เอง ภายใต้การขนส่งในสภาวะปกติ หรือเมื่อสัมผัสกับอากาศแล้ว เกิดความร้อน จนถึงลุกติดไฟ ฟอสฟอรัสขาว
4.3 สารที่เมื่อสัมผัสกับน้ำแล้ว จะปล่อยแก๊สไวไฟออกมา หรือเกิดการลุกไหม้ได้เอง เมื่อสัมผัสกับน้ำ หรือไอน้ำ แคลเซียมคาร์ไบด์
สารออกซิไดซ์ และสารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ 5.1 สารซึ่งทำให้ หรือช่วยให้สารอื่นติดไฟได้ โดยการให้ออกซิเจน หรือสารออกซิไดซ์อื่น ซึ่งตัวมันจะติดไฟหรือไม่ก็ตาม ไนเตรท, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
5.2 สารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้าง "-O-O-" ซึ่งเป็นสารออกซิไดซ์ที่รุนแรง และสามารถระเบิดสลายตัว หรือไวต่อความร้อน การกระทบกระเทือน หรือการเสียดสี เมธิล เอธิล คีโตนเปอร์ออกไซด์
สารพิษ และสารที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ 6.1(a) สารพิษ ไซยาไนด์ อาเซนิก
6.1(b) สารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สารประกอบของแคดเมียม
6.2 สารที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ วัคซีน, จุลินทรีย์
สารกัมมันตรังสี สารกัมมันตรังสีทุกประเภท ยูเรเนียม, ไอโซโทปของรังสี
สารที่ทำให้เกิดการกัดกร่อน สารที่ทำให้เกิดการกัดกร่อน กรดซัลฟูริก กรดเกลือ
สาร หรือวัตถุอื่น ที่อาจเป็นอันตรายได้ 9.1 สารที่เป็นอันตราย ซึ่งยังไม่จำกัดอยู่ในประเภทใด ใน 8 ประเภทข้างต้น แต่สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ น้ำแข็งแห้ง (dry ice)
9.2 สารที่ก่อให้เกิดอันตราย ต่อสภาวะแวดล้อม
9.3 ของเสียอันตราย

เอกสารอ้างอิง

1. คณะผู้วิจัยโครงการปัญหาสิ่งแวดล้อมและวัตถุมีพิษในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายภายในห้องปฏิบัติการ. พิมพ์ครั้งที่ 12, กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,
2. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. ระบบการจัดการ ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี : ข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับ หลักการ ระบบ และเทคนิคในทางปฏิบัติ [ออนไลน์].
3. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ. คู่มือความปลอดภัยทางรังสี : การใช้วัสดุกัมมันตรังสีสำหรับงานการฝังวัสดุ กัมมันตรังสีแบบถาวร, คปร.1/2557 [ออนไลน์]. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2557.

[Main Menu]  :   << Back    Next >>