การจัดการสารเคมีและของเสีย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
ปรับปรุงล่าสุด: 1 มีนาคม 2564

สารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการมีอยู่จำนวนมาก ตามการใช้งานและการปฏิบัติงาน ดังนั้นการจัดการสารเคมีและของเสียที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาที่อาจส่งผลกระทบทั้งทางสุขภาพ กายภาพและความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้ใช้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรศึกษาคู่มือความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถเข้าใจหรือแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ดังนี้

  • ทราบอันตรายของสารเคมีที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถทราบได้จากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ (MSDS)
  • ทราบสถานที่และวิธีการเก็บรักษาสารเคมีที่เหมาะสม
  • ทราบวิธีการเคลื่อนย้ายสารเคมีภายในห้องปฏิบัติการ
  • ทราบวิธีการใช้เครื่องป้องกันตนเองที่เหมาะสมต่อสารเคมี
  • ทราบจุดเก็บ และวิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในกรณีสัมผัสสารเคมี
  • ทราบแนวทางการปฏิบัติในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เช่น เส้นทางออกจากห้องปฏิบัติการ วิธีปฏิบัติตนเมื่อสัมผัสสารเคมีอันตราย รวมถึงแนวทางการจัดการของเสีย
  • ให้ความระมัดระวังในการจุดไฟในห้องปฏิบัติการ ดับไฟทันทีเมื่อเลิกใช้งาน ไม่ควรปล่อยให้ไฟติดทิ้งไว้โดยไม่มีคนดู
  • ก่อนที่จะทำการจุดไฟ ควรย้ายวัสดุไวไฟออกจากบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ควรแน่ใจว่าได้ปิดภาชนะที่บรรจุของเหลวไวไฟอย่างดีแล้ว
  • ควรเก็บสารเคมีไวไฟในตู้สำหรับเก็บสารเคมีไวไฟโดยเฉพาะ
  • ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ ในกรณีที่มีสารระเหยไวไฟ (Volatile flammable material)
  • ควรใช้ตู้ดูดควันในการถ่ายเท ผสม หรือ ให้ความร้อนสารเคมี
  • กรณีสามารถเลือกใช้สารเคมีได้ ควรเลือกใช้สารเคมี ที่มีความเป็นพิษน้อยที่สุด ในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้
  • อ่านคู่มือ และเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อต้องปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารก่อมะเร็ง
  • กรณีเกิดกลิ่นผิดปกติในห้องปฏิบัติการควรแจ้งให้อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบโดยทันที

เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี

เอกสารข้อมูลความปลอดภัยในการใช้สารเคมีและวัตถุอันตราย คือเอกสารข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ (material safety data Ssheet, MSDS) โดย MSDS ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง คนงาน บุคคลากรที่ดูแลด้านความปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วยวิธีการ และขั้นตอนการดำเนินงานที่เหมาะสมในการจัดการ หรือทำงานกับสารเคมี เอกสาร MSDS ประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่นข้อมูลทางกายภาพ (จุดหลอมเหลว จุดเดือด จุดวาบไฟ ฯลฯ) ความเป็นพิษ ผลต่อสุขภาพ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเกิดปฏิกิริยา การเก็บ การทิ้ง อุปกรณ์ป้องกัน การปฏิบัติเมื่อหกหรือรั่วไหล ซึ่งจะแตกต่างกันไปสำหรับสารแต่ละชนิด ข้อมูลและรูปแบบของ MSDS ในแต่ละประเทศอาจมีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน แต่ส่วนมากจะประกอบด้วยข้อมูลหลัก 16 ข้อ ได้แก่

  1. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีและบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย
  2. องค์ประกอบ/ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม
  3. ข้อมูลเกี่ยวกับอันตราย
  4. มาตรการปฐมพยาบาล
  5. มาตรการการผจญเพลิง
  6. มาตรการเมื่อมีอุบัติเหตุสารหกรั่วไหล
  7. การจัดการและการเก็บรักษา
  8. การควบคุมการสัมผัสสาร/ การป้องกันส่วนบุคคล
  9. สมบัติทางเคมีและกายภาพ
  10. ความเสถียรและความว่องไวต่อปฏิกิริยา
  11. ข้อมูลทางพิษวิทยา
  12. ข้อมูลเชิงนิเวศน์
  13. มาตรการการกำจัด
  14. ข้อมูลการขนส่ง
  15. ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนด
  16. ข้อมูลอื่น

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลอย่างละเอียด เอกสาร MSDS และเอกสารแนะนำความปลอดภัย (SG) สามารถสืบค้นได้จากหลายแหล่ง เช่น

  1. ที่ห้องปฏิบัติการหรือที่ทำงานควรต้องมี MSDS ซึ่งได้มากับสารเคมีอันตรายที่สั่งซื้อมา (อย่าทิ้ง MSDS ที่ติดมากับขวดสารเคมี)
  2. บริษัทที่สั่งซื้อสารเคมีมา ถ้าทางบริษัทผู้จำหน่ายไม่มี ให้ติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง
  3. อินเตอร์เน็ต ซึ่งมีหลายเว็บไซต์ที่มี MSDS ไว้บริการ เช่น http://msds.pcd.go.th, http://www.msds.com, http://www.chemtrack.org เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทุกคน ควรที่จะศึกษาข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ ของสารเคมีทุกตัวที่ต้องใช้ในห้องปฏิบัติการ การเก็บข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ ควรเก็บเข้าแฟ้มเอกสาร เรียงตามตัวอักษร เพื่อความสะดวกในการค้นหาภายหลัง

การแยกประเภทสารเคมี

สารเคมีสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท แต่เมื่อพิจารณาถึงอันตรายต่อสุขภาพ  สามารถแบ่งประเภทของสารเคมี ได้เป็น

1. สารเคมีที่ไวไฟ (flammable and combustible)

วัตถุไวไฟ (flammable substances) หมายถึงวัตถุที่ง่ายต่อการติดไฟและเผาไหม้ในที่ที่มีอากาศ ของเหลวไวไฟ (flammable liquid) หมายถึงของเหลวที่มีจุดวาบไฟ ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 37.8°C ส่วนของเหลวติดไฟได้ (combustible liquid) หมายถึงของเหลวที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า หรือเท่ากับ 37.8°C บางกรณีมีการแยกประเภทสารไวไฟ ออกเป็นของแข็งและแก๊ส ตัวอย่างของแก๊สไวไฟ เช่น acetylene, ethylene oxide และ hydrogen เป็นต้น ในกลุ่มของสารเคมีที่ไวไฟ ยังสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ดังนี้

1.1) สารเคมีที่ระเบิดได้ (explosive) สารเคมีที่ก่อให้เกิดการระเบิดเมื่อได้รับความร้อน แสง หรือตัวเร่ง (catalyst) ได้ที่พบในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ สารประกอบในกลุ่ม nitrate, chlorate, perchloratesนอกจากนั้นสารประกอบของโลหะเช่น ผงแมกนีเซียม (Mg powder) หรือผงสังกะสี (Zn powder) เมื่อผสมกับอากาศจะสามารถระเบิดได้เช่นกัน

1.2) สารเคมีที่ติดไฟเองได้ (pyrophorics) สารเคมีกลุ่ม pyrophorics ตามมาตรฐานของ US-OSHA ได้แก่สารเคมีที่สามารถติดไฟ (ignition) ได้เองที่อุณหภูมิเท่ากับหรือต่ำกว่า 54.4°C สารในกลุ่มนี้มักทำปฏิกิริยารุนแรงกับน้ำ (water reactive) และติดไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำหรืออากาศชื้น ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะเร็วหรือช้าขึ้นกับชนิดของสารเคมี สารเคมีบางตัวสามารถติดไฟขึ้นเองได้ เมื่ออุณหภูมิภายนอกถึงจุดสันดาปของสารเคมีนั้น โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นช่วย สารเคมีเหล่านี้ได้แก่ sodium, potassium, phosphorus เป็นต้น

1.3 สารที่ไวต่อการทำปฏิกิริยากับน้ำ (water reactive substances) สารเคมีที่ไวต่อปฏิกิริยากับน้ำเกิดปฏิกิริยารุนแรง โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำอยู่จำกัด สารเคมีในกลุ่มนี้ เช่น สาร alkali และ สาร alkali earth เช่น potassium, calcium สารในกลุ่ม anhydrous metal halides เช่น AlBr3, GeCl2 เป็นต้น

1.4 สารเคมีที่เกิดเปอร์ออกไซด์ (peroxidizable substances) สารเคมีในกลุ่มนี้ ทำปฏิกิริยาอย่างช้าๆกับออกซิเจนในอากาศ โดยมีแสง และความร้อนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา  เกิดเป็นสารเปอร์ออกไซด์ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการระเบิดรุนแรงได้ การนำสารเคมีในกลุ่มนี้มาใช้ต้องแน่ใจว่าปราศจากสารเปอร์ออกไซด์ บางห้องปฏิบัติการกำหนดระยะเวลาจัดเก็บสารเคมีในกลุ่มนี้เป็นรายสารเคมี รายละเอียดสารเคมีในกลุ่มที่เกิดเปอร์ออกไซด์ และระยะเวลาจัดเก็บในห้องปฏิบัติการ (ตารางผนวกที่ 1 และ 2)

 

2. สารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน (corrosives)

สารในกลุ่มนี้ ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ทำลายเยื่อบุผิวหนัง และเยื่อบุตา สารในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ กรดแก่ ด่างแก่ สารที่ดูดน้ำ (dehydrating agent) และ สารออกซิไดซ์ (oxidizing agent)

2.1 กรดแก่ (strong acid) หรือกรดเข้มข้นทุกชนิด สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและเยื่อบุตา เฉพาะอย่างยิ่งกรดไนตริก (HNO3) กรดโครมิก (H2CrO4) และกรดไฮโดรฟลูออริก (HF) ทั้งนี้การเคลื่อนย้ายกรดเหล่านี้ควรใส่ถุงมือยาง ผ้ายางกันเปื้อน รวมทั้งควรใส่หน้ากากป้องกันไอระเหย

2.2 ด่างแก่ (strong base) เช่น NaOH, KOH, conc. NH3 สารเหล่านี้ มีฤทธิ์ระคายเคืองตาสูง ดังนั้นการเคลื่อนย้ายสารเคมีในกลุ่มนี้ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันเช่นเดียวกันกับการเคลื่อนย้ายกรดแก่

2.3 สารที่ดูดน้ำ (dehydrating agent) สารเคมีในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ กรดซัลฟูริก (sulfuric acid), sodium hydroxide, phosphorus pentoxide และ calcium oxide สารเหล่านี้หากสัมผัสผิวหนังก่อให้เกิดอาการไหม้ของผิวหนังได้

2.4 สารออกซิไดซ์ (oxidizing agent) ได้แก่ สารที่เป็นตัวรับอิเล็กตรอน (electron acceptor) ในปฏิกิริยาหรืออีกความหมายหนึ่งเป็นตัวให้ออกซิเจน สารเคมีในกลุ่มนี้ เช่น สารประกอบhypochlorite, permanganate และเปอร์ออกไซด์ เป็นต้น เนื่องจากสารเคมีในกลุ่มนี้เป็นตัวให้ออกซิเจน จึงสามารถเป็นตัวเร่งให้เกิดการสันดาปหรือเผาไหม้ได้

การจัดเก็บสารเคมี

การจัดเก็บสารเคมีอย่างถูกวิธี ช่วยให้ง่ายในการทำงาน และเกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ การเก็บสารเคมี มีข้อพึงปฏิบัติทั่วไป ดังนี้

  • แยกการเก็บสารเคมีตามประเภทอันตราย จากนั้นจึงค่อยวางเรียงตามลำดับตัวอักษร
  • ไม่เก็บสารเคมีไว้ในตู้ควัน
  • เก็บสารเคมีเข้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานทุกครั้ง
  • สารเคมีไวไฟ ควรเก็บตู้ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อป้องกันการติดไฟ
  • ไม่ควรเก็บสารเคมีบนชั้นในระดับที่เหนือระดับสายตาขึ้นไป
  • ไม่ควรวางขวดสารเคมีซ้อนกันในแนวตั้ง
  • ไม่ควรเก็บสารเคมีในบริเวณทางเดิน บันได หรือวางบนพื้น ควรเก็บในพื้นที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ
  • สารเคมีทุกตัวควรมีการบันทึก วันที่ได้รับเข้ามาในห้องปฏิบัติการ และวันที่เปิดใช้
  • การเก็บสารเคมีที่เป็นของเหลวในตู้เย็นและตู้แช่แข็ง ขวดสารเคมีต้องมีภาชนะรองรับ (secondary container) ที่เหมาะสม เช่น ถาดพลาสติก และภาชนะรองรับต้องสามารถป้องกันการหกหรือรั่วไหลของสารเคมีได้ หรือสามารถรองรับปริมาณสารเคมีที่อยู่ในขวดได้อย่างเพียงพอหากเกิดการหกหรือรั่วไหล
  • ไม่เก็บขวดสารเคมีไว้บนหิ้งหรือโต๊ะปฏิบัติการ ยกเว้นกรณีขวดสารเคมีที่เตรียมขึ้นเองสำหรับการทดลอง เช่น stock solution
  • ไม่วางสารเคมี (รวมถึงถังแก๊ส) บริเวณทางเดิน
  • ในกรณีที่จำเป็นต้องวางขวดหรือภาชนะบรรจุสารเคมีบนพื้นห้องปฏิบัติการ ต้องมีภาชนะรองรับที่มีความจุมากกว่าปริมาณรวมของสารเคมีที่มีอยู่ในภาชนะทุกใบ และไม่วางเกะกะการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและทางเดิน ในกรณีภาชนะเป็นแก้วต้องอยู่ในตำแหน่งที่ไม่แตกได้โดยง่าย
  • เก็บสารที่ติดไฟง่ายออกห่างจากแหล่งกำเนิดไฟ
  • เก็บสารไวปฏิกิริยาต่อน้ำออกห่างจากสปริงเกลอร์
  • ไม่วางสารเคมีใกล้ท่อระบายน้ำ ใต้หรือในอ่างน้ำ หากจำเป็นต้องมีภาชนะรองรับ เพื่อป้องกันสารเคมีรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม

1) การจัดเก็บสารไวไฟ

  • สารไวไฟต้องเก็บให้ห่างจากความร้อน แหล่งกำเนิดไฟ และเปลวไฟ
  • สารไวไฟต้องเก็บให้พ้นจากแสงอาทิตย์
  • ในห้องปฏิบัติการต้องมีการกำหนดบริเวณการจัดเก็บสารไวไฟไว้โดยเฉพาะ และไม่นำสารอื่นมาเก็บไว้ในบริเวณที่เก็บสารไวไฟ
  • ต้องไม่เก็บสารไวไฟไว้ในภาชนะที่ใหญ่เกินจำเป็น เช่น ในภาชนะขนาดใหญ่เกิน 20 ลิตร (carboy)
  • ห้ามเก็บสารไวไฟหรือสารที่ไหม้ไฟได้ในห้องปฏิบัติการไว้มากกว่า 50 ลิตร
  • ในกรณีที่ภายในห้องปฏิบัติการจำเป็นต้องเก็บสารไวไฟหรือสารที่ไหม้ไฟได้ไว้มากกว่า 50 ลิตร ต้องเก็บไว้ในตู้เฉพาะที่ใช้สำหรับเก็บสารไวไฟ หากต้องเก็บในที่เย็น ตู้เย็นที่ใช้เก็บต้องมีระบบป้องกันการเกิดประกายไฟหรือปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดการติดไฟหรือระเบิดได้ (explosion–proof refrigerator)
  • ห้ามเก็บสารไวไฟในตู้เย็นสำหรับใช้ในบ้าน เนื่องจากภายในตู้เย็นที่ใช้ในบ้านไม่มีระบบป้องกันการติดไฟ และยังมีวัสดุหลายอย่างที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดไฟได้ เช่น หลอดไฟภายในตู้เย็น เป็นต้น

2) การจัดเก็บสารกัดกร่อน

  • ห้ามเก็บขวดสารกัดกร่อน (ทั้งกรดและเบส) ขนาดใหญ่ (ปริมาณมากกว่า 1 ลิตร หรือ 5 กิโลกรัม) ไว้ในระดับที่สูงเกิน 60 เซนติเมตร (2 ฟุต)
  • ห้ามเก็บขวดสารกัดกร่อน (ทั้งกรดและเบส) ทุกชนิดเหนือกว่าระดับสายตา
  • ขวดกรดต้องเก็บไว้ในตู้ไม้หรือตู้สำหรับเก็บกรดโดยเฉพาะที่ทำจากวัสดุป้องกันการกัดกร่อน เช่น พลาสติก หรือวัสดุอื่นๆ ที่เคลือบด้วยอีพ๊อกซี่ (epoxy enamel) และมีภาชนะรองรับ เช่น ถาดพลาสติก หรือมีวัสดุห่อหุ้มป้องกันการรั่วไหล
  • การเก็บขวดกรดขนาดเล็ก (ปริมาณไม่เกิน 1 ลิตร หรือ 5 กิโลกรัม) บนชั้นวาง ต้องมีภาชนะรองรับ เช่น ถาดพลาสติก หรือมีวัสดุห่อหุ้มป้องกันการรั่วไหล

3) การจัดเก็บแก๊ส

  • การเก็บถังแก๊สในห้องปฏิบัติการต้องมีอุปกรณ์ยึดที่แข็งแรง ถังแก๊สทุกถังต้องมีสายคาดหรือโซ่ยึดกับผนัง โต๊ะปฏิบัติการ หรือที่รองรับอื่นๆ ที่สามารถป้องกันอันตรายให้กับผู้ปฏิบัติงานในบริเวณใกล้เคียงจากน้ำหนักของถังแก๊สที่ล้มมาทับได้ โดยทั่วไปสายยึดต้องคาดเหนือกึ่งกลางถัง ในระดับประมาณ 2/3 ของถัง
  • ถังแก๊สทุกถังต้องมีที่ปิดครอบหัวถัง ถังแก๊สที่ไม่ได้สวมมาตรวัดต้องมีฝาปิดครอบหัวถังที่มี สกรูครอบอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายจากแก๊สภายในถังพุ่งออกมาอย่างรุนแรงหากวาล์วควบคุมที่คอถังเกิดความเสียหาย
  • ห้ามเก็บถังแก๊สเปล่ารวมอยู่กับถังแก๊สที่มีแก๊ส และต้องติดป้ายระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นถังแก๊สเปล่า หรือถังแก๊สที่มีแก๊ส
  • เก็บถังแก๊สในที่แห้ง อากาศถ่ายเทได้ดี ห่างจากความร้อน ประกายไฟ แหล่งกำเนิดไฟ วงจรไฟฟ้า
  • ถังแก๊สที่บรรจุสารอันตรายหรือสารพิษ ต้องเก็บในตู้เก็บถังแก๊สโดยเฉพาะที่มีระบบระบายอากาศ หรือหากเป็นถังแก๊สขนาดเล็ก (lecture cylinders หรือ 4–L tanks) ต้องเก็บไว้ในตู้ควันและห้ามเก็บเกิน 2 ถัง
  • เก็บถังแก๊สออกซิเจนห่างจากถังแก๊สเชื้อเพลิง (เช่น acetylene) แก๊สไวไฟ และวัสดุไหม้ไฟได้ (combustible materials) อย่างน้อย 6 เมตร (20 ฟุต) หรือบังด้วยฉาก/ผนังกั้นที่ทำด้วยวัสดุไม่ติดไฟ ที่มีความสูงอย่างน้อย 5 เมตร (5 ฟุต) และสามารถหน่วงไฟได้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

4) การจัดเก็บสารออกซิไดซ์

สารออกซิไดซ์สามารถทำให้เกิดเพลิงไหม้และการระเบิดได้เมื่อสัมผัสกับสารไวไฟและสารที่ไหม้ไฟได้ เมื่อสารที่ไหม้ไฟได้สัมผัสกับสารออกซิไดซ์จะทำให้อัตราในการลุกไหม้เพิ่มขึ้น ทำให้สารไหม้ไฟได้เกิดการลุกติดไฟขึ้นทันที หรืออาจเกิดการระเบิดเมื่อได้รับความร้อน การสั่นสะเทือนหรือแรงเสียดทาน ข้อกำหนดในการจัดเก็บ

  • เก็บสารออกซิไดซ์ห่างจากสารไวไฟ สารอินทรีย์ และสารที่ไหม้ไฟได้
  • เก็บสารที่มีสมบัติออกซิไดซ์สูง (เช่น กรดโครมิก) ไว้ในภาชนะแก้วหรือภาชนะที่มีสมบัติเฉื่อย
  • ห้ามใช้ขวดที่ปิดด้วยจุกคอร์กหรือจุกยางเก็บสารออกซิไดซ์

5) การจัดเก็บสารที่ไวต่อปฏิกิริยา

สารที่ไวต่อปฏิกิริยาสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ ดังนี้

  • สารที่ไวต่อปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชัน (polymerization reactions) เช่น styrene สารในกลุ่มนี้เมื่อเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชันจะทำให้เกิดความร้อนสูงหรือไม่สามารถควบคุมการปลดปล่อยความร้อนออกมาได้
  • สารที่ไวต่อปฏิกิริยาเมื่อสัมผัสน้ำ (water reactive materials) เช่น alkali metals (lithium, sodium, potassium) silanes, magnesium, zinc, aluminum รวมทั้งสารประกอบอินทรีย์โลหะ เช่น alkylaluminiums, alkylithiums เป็นต้น สารกลุ่มนี้เมื่อสัมผัสกับน้ำจะปลดปล่อยความร้อนออกมาทำให้เกิดการลุกติดไฟขึ้นในกรณีที่ตัวสารเป็นสารไวไฟหรือทำให้สารไวไฟที่อยู่ใกล้เคียงลุกติดไฟ นอกจากนี้อาจจะทำให้เกิดการปลดปล่อยสารไวไฟ สารพิษ ไอของออกไซด์ของโลหะ กรด แก๊สที่ทำให้เกิดการออกซิไดซ์ได้ดี
  • สาร pyrophoric ส่วนใหญ่เป็น tert–butyllithium, diethylzinc, triethylaluminum, สารประกอบอินทรีย์โลหะ (organometallics) สารกลุ่มนี้เมื่อสัมผัสกับอากาศจะทำให้เกิดการลุกติดไฟ
  • สารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ (Peroxide–forming materials) หมายถึง สารที่เมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศ ความชื้น หรือสิ่งปนเปื้อนต่างๆ แล้วทำให้เกิดสารเปอร์ออกไซด์ เช่น ether, dioxane, sodium amide, tetrahydrofuran (THF) เป็นต้น สารเปอร์ออกไซด์เป็นสารที่ไม่เสถียรสามารถทำให้เกิดการระเบิดได้เมื่อมีการสั่นสะเทือน แรงเสียดทาน การกระแทก ความร้อน ประกายไฟ หรือ แสง
  • สารที่ไวต่อปฏิกิริยาเมื่อเกิดการเสียดสีหรือกระทบกระแทก (shock–sensitive materials) เช่น สารที่มีหมู่ไนโตร (nitro), เกลือ azides, perchlorates เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีส่วนประกอบของสารอินทรีย์อยู่ด้วย เมื่อสารกลุ่มนี้ถูกเสียดสีหรือกระทบกระแทกจะทำให้เกิดการระเบิดได้

ข้อกำหนดในการจัดเก็บ

  • มีการกำหนดพื้นที่ในห้องปฏิบัติการไว้เป็นสัดส่วนต่างหาก เพื่อแยกเก็บสารที่ไวต่อปฏิกิริยาต่างๆ (พอลิเมอไรเซชัน สารที่ไวต่อปฏิกิริยาเมื่อสัมผัสน้ำ สาร pyrophoric หรือ สารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ และสารที่ไวต่อปฏิกิริยาเมื่อเกิดการเสียดสีหรือกระทบกระแทก) โดยหลีกเลี่ยงสภาวะที่ทำให้สารเกิดปฏิกิริยา เช่น น้ำ แสง ความร้อน วงจรไฟฟ้า ฯลฯ ตัวอย่างเช่น สารที่ไวต่อปฏิกิริยาเมื่อสัมผัสน้ำต้องเก็บให้ห่างจากอ่างน้ำ ฝักบัวฉุกเฉิน เป็นต้น
  • ตู้เก็บสารไวต่อปฏิกิริยาต่างๆ ต้องมีการติดคำเตือนชัดเจน เช่น “สารไวต่อปฏิกิริยา–ห้ามใช้น้ำ” เป็นต้น
  • เก็บสารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ห่างจากความร้อน แสง และแหล่งกำเนิดประกายไฟ
  • ภาชนะบรรจุสารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ต้องมีฝาหรือจุกปิดที่แน่นหนา เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศ
  • ห้ามเก็บสารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ในภาชนะที่มีฝาเกลียวหรือฝาแก้ว เนื่องจากแรงเสียดทานขณะเปิดอาจทำให้เกิดการระเบิดได้ อาจใช้เป็นขวดพลาสติกที่เป็นฝาเกลียวแทน

 

การแยกเก็บสารเคมี (segregation)

การเก็บสารเคมี ควรมีการจัดแยกเก็บตามชนิด หรือประเภทของสารเคมี รวมทั้งประเภทของอันตราย อันตรายของสารเคมีแต่ละชนิดอาจดูได้จากเอกสาร MSDS อย่างไรก็ตามสารเคมีชนิดหนึ่งอาจถูกจัดเรื่องของความอันตรายอยู่ในหลายหมวดหมู่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ควรจัดให้สารเคมีนั้นอยู่ในกลุ่มที่เป็นอันตรายสูงสุด ข้อพึงระวังในการจัดเก็บสารเคมี

  1. ควรมีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่จะเก็บสารเคมีประเภทของเหลวที่ไวไฟหรือติดไฟ (flammable/combustible liquid) ในห้องปฏิบัติการ ไม่ควรเก็บของเหลวไวไฟในภาชนะที่ทำด้วยแก้ว เนื่องจากมีโอกาสที่เกิดการตกแตก และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย รวมทั้งควรแยกการเก็บสารเคมีประเภทนี้ออกจากสารออกซิไดซ์ เช่น ไม่ควรเก็บกรดอินทรีย์ (organic acid) ที่มักมีคุณสมบัติติดไฟได้ (combustible) ไว้รวมกับกรดอนินทรีย์ (inorganic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารออกซิไดซ์ กรณีของเหลวที่มีความไวไฟสูงอาจต้องเก็บในตู้เย็น ทั้งนี้ก่อนนำเข้าเก็บ ควรปิดฝาภาชนะให้แน่น เพื่อป้องกันไอระเหยของสารเคมีเหล่านี้
  2. การจัดเก็บสารออกซิไดซ์ ไม่ควรเก็บสารออกซิไดซ์รวมกับสารเคมีประเภทของเหลวไวไฟ โดยทั่วไปสารออกซิไดซ์ที่เป็นแก๊ส จะมีความไวต่อปฏิกิริยาเคมี รวมทั้งสามารถทำปฏิกิริยากับโลหะต่างๆ การทำความสะอาดสารเคมีประเภทนี้ ไม่ควรทิ้งลงในถังขยะเนื่องจากอาจเกิดการลุกไหม้ได้
  3. สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (health hazard) สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (health hazard) ได้แก่สารพิษต่างๆ รวมถึงสารก่อมะเร็ง (carcinogen) และสารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของพันธุกรรม (mutagen) ควรมีการแยกเก็บสารเคมีประเภทนี้ไว้เฉพาะส่วน รวมทั้งควรมีการกำหนดบุคคลที่สามารถใช้งานสารประเภทนี้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
  4. สารเคมีที่ไม่ควรจัดเก็บร่วมกัน (incompatible chemicals) สารเคมีหลายตัวเมื่อทำปฏิกิริยากัน จะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและทรัพย์สิน ดังนั้นควรระมัดระวัง ในการจัดเก็บสารเคมีเหล่านี้ให้แยกจากกัน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่จะทำให้สารเคมีเหล่านี้ทำปฏิกิริยากัน รวมทั้งระมัดระวังในการนำขวดบรรจุสารเคมีเก่ามาใช้บรรจุสารเคมีตัวอื่นๆ

เอกสารอ้างอิง

1. คณะผู้วิจัยโครงการปัญหาสิ่งแวดล้อมและวัตถุมีพิษในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายภายในห้องปฏิบัติการ. พิมพ์ครั้งที่ 12, กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,
2. ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. เอกสารประกอบการประชุมปฏิบัติการผู้ช่วยปฏิบัติการวิชาเคมี. กรุงเทพมหานคร: 2542.
3. มหาวิทยาลัยมหิดล. ศูนย์บริหารความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม. แนวปฏิบัติเพื่อความ ปลอดภัยทางชีวภาพ. พิมพ์ครั้งที่ กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัย, 2555.
4. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. ระบบการจัดการ ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี : ข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับ หลักการ ระบบ และเทคนิคในทางปฏิบัติ [ออนไลน์].
5. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ. คู่มือความปลอดภัยทางรังสี : การใช้วัสดุกัมมันตรังสีสำหรับงานการฝังวัสดุ กัมมันตรังสีแบบถาวร, คปร.1/2557 [ออนไลน์]. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2557.

[Main Menu]  :   << Back    Next >>