ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
ปรับปรุงล่าสุด: 1 มีนาคม 2564
สารเคมีอันตราย หมายถึง สารเคมีที่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งผลกระทบอย่างฉับพลันหรือเรื้อรัง มักรวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogen) สารพิษ สารพิษที่ก่อให้เกิดผลต่อระบบสืบพันธุ์ (reproductive toxins) สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (irritants) สารที่ส่งผลต่อระบบเลือด ระบบประสาท เป็นต้น ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ได้ ให้ความหมายของ สารเคมีอันตราย ว่าหมายถึง สาร สารประกอบ สารผสม ซึ่งอยู่ในรูปของของแข็ง ของเหลวและแก๊ส ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
- มีพิษ กัดกร่อน ระคายเคือง ทำให้เกิดอาการแพ้ ก่อมะเร็งหรือทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย
- ทำให้เกิดการระเบิด เป็นตัวทำปฏิกิริยาที่รุนแรง เป็นตัวเพิ่มออกซิเจนหรือไวไฟ
- มีกัมมันตภาพรังสี
ประเภทของสารเคมีอันตราย
ในประเทศไทยการแบ่งประเภทของสารเคมีอันตราย ได้ยึดระบบสหประชาชาติ ที่ใช้อยู่แล้วกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก (international classification system) ซึ่งแบ่งสารเคมีอันตรายออกเป็น 9 ประเภท
- สารที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้ (explosives
- แก๊ส : ในรูปของเหลวอัดความดันหรืออยู่ในรูปของสารละลายภายใต้ความดัน
- ของเหลวไวไฟ
- ของแข็งไวไฟ ซึ่งสามารถลุกไหม้ได้เอง และสารที่เมื่อสัมผัสกับน้ำแล้วจะปล่อยแก๊สไวไฟออกมา
- สารออกซิไดซ์ และสารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์
- สารพิษ และสารที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ
- สารกัมมันตรังสี
- สารที่ทำให้เกิดการกัดกร่อน
- สาร หรือวัตถุอื่น ที่อาจเป็นอันตรายได้
ตารางการจัดหมวดหมู่ของสารเคมีอันตราย
ประเภท | รหัส | คำจำกัดความ | ตัวอย่าง |
สารที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้ | 1.1 | สาร หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตราย จากการระเบิดอย่างรุนแรง | วัตถุระเบิด, ยุทธภัณฑ์ |
1.2 | สาร หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยการกระจายของสะเก็ด เมื่อเกิดการระเบิด แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย จากการระเบิดอย่างรุนแรง | พลุ, ดอกไม้ไฟบางชนิด | |
1.3 | สาร หรือสิ่งซึ่งก่อให้เกิดอันตราย จากเพลิงไหม้ ตามด้วยการระเบิด หรืออันตราย จากการกระจายของสะเก็ดบ้าง หรือเกิดอันตรายทั้งสองอย่าง แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย จากการระเบิดอย่างรุนแรง | พลุ, ดอกไม้ไฟบางชนิด | |
1.4 | สาร หรือสิ่งซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก ผลของการระเบิดจำกัดอยู่ในเฉพาะหีบห่อ ไม่มีการกระจายของสะเก็ด | ประทัด, ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในการฝึกซ้อม | |
1.5 | สารที่ไม่ไวต่อการระเบิด แต่ถ้าเกิดการระเบิด จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับสารในข้อ 1.1 | Explosive slurries, emulsion, water gel (type E explosives) | |
1.6 | สารที่ไม่ว่องไว หรือเฉื่อยชามาก ต่อการระเบิด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง จากการระเบิด | ||
แก๊ส | 2.1 | แก๊สไวไฟ | แก๊สหุงต้ม |
2.2 | แก๊สไม่ไวไฟ ไม่เป็นพิษ และไม่กัดกร่อน | แก๊สไนโตรเจน | |
2.3 | แก๊สพิษ (Poisonous gas) | คลอรีน, ไซยาไนด์ | |
2.4 | แก๊สกัดกร่อน | ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ | |
ของเหลวไวไฟ | 3.1 | ของเหลวที่มีจุดวาบไฟน้อยกว่า -18°C | Gasoline |
3.2 | ของเหลวที่มีจุดวาบไฟน้อยกว่า -18 ถึง 23°C | แอซิโตน | |
3.3 | ของเหลวที่มีจุดวาบไฟน้อยกว่า 23 ถึง 61°C | เมทานอล | |
ของแข็งไวไฟ | 4.1 | ของแข็งซึ่งขนส่งในสภาวะปกติ เกิดติดไฟ และลุกไหม้อย่างรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุจากการเสียดสี หรือจากความร้อนที่ยังหลงเหลืออยู่ จากกระบวนการผลิต หรือปฏิกิริยาของสารเอง | ฟอสฟอรัส หรือไม้ขีดไฟ |
4.2 | สารที่ลุกติดไฟได้เอง ภายใต้การขนส่งในสภาวะปกติ หรือเมื่อสัมผัสกับอากาศแล้ว เกิดความร้อน จนถึงลุกติดไฟ | ฟอสฟอรัสขาว | |
4.3 | สารที่เมื่อสัมผัสกับน้ำแล้ว จะปล่อยแก๊สไวไฟออกมา หรือเกิดการลุกไหม้ได้เอง เมื่อสัมผัสกับน้ำ หรือไอน้ำ | แคลเซียมคาร์ไบด์ | |
สารออกซิไดซ์ และสารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ | 5.1 | สารซึ่งทำให้ หรือช่วยให้สารอื่นติดไฟได้ โดยการให้ออกซิเจน หรือสารออกซิไดซ์อื่น ซึ่งตัวมันจะติดไฟหรือไม่ก็ตาม | ไนเตรท, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ |
5.2 | สารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้าง "-O-O-" ซึ่งเป็นสารออกซิไดซ์ที่รุนแรง และสามารถระเบิดสลายตัว หรือไวต่อความร้อน การกระทบกระเทือน หรือการเสียดสี | เมธิล เอธิล คีโตนเปอร์ออกไซด์ | |
สารพิษ และสารที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ | 6.1(a) | สารพิษ | ไซยาไนด์ อาเซนิก |
6.1(b) | สารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ | สารประกอบของแคดเมียม | |
6.2 | สารที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ | วัคซีน, จุลินทรีย์ | |
สารกัมมันตรังสี | สารกัมมันตรังสีทุกประเภท | ยูเรเนียม, ไอโซโทปของรังสี | |
สารที่ทำให้เกิดการกัดกร่อน | สารที่ทำให้เกิดการกัดกร่อน | กรดซัลฟูริก กรดเกลือ | |
สาร หรือวัตถุอื่น ที่อาจเป็นอันตรายได้ | 9.1 | สารที่เป็นอันตราย ซึ่งยังไม่จำกัดอยู่ในประเภทใด ใน 8 ประเภทข้างต้น แต่สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ | น้ำแข็งแห้ง (dry ice) |
9.2 | สารที่ก่อให้เกิดอันตราย ต่อสภาวะแวดล้อม | ||
9.3 | ของเสียอันตราย |
เอกสารอ้างอิง
1. คณะผู้วิจัยโครงการปัญหาสิ่งแวดล้อมและวัตถุมีพิษในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายภายในห้องปฏิบัติการ. พิมพ์ครั้งที่ 12, กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,
2. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. ระบบการจัดการ ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี : ข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับ หลักการ ระบบ และเทคนิคในทางปฏิบัติ [ออนไลน์].
3. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ. คู่มือความปลอดภัยทางรังสี : การใช้วัสดุกัมมันตรังสีสำหรับงานการฝังวัสดุ กัมมันตรังสีแบบถาวร, คปร.1/2557 [ออนไลน์]. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2557.
[Main Menu] : << Back Next >>