ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
ปรับปรุงล่าสุด: 19 พฤษภาคม 2563

ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

ในการทดลองหรือการปฏิบัติงานในห้องทดลองทางเคมี ผู้ผฏิบัติงานจำเป็นต้องรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายผู้ทดลองหรือผู้อื่น และความเสียหายต่อทรัพย์สินอื่น ๆ

ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

1. ด้านกายภาพ

  • ผู้ทดลองต้องรู้แผนผังอาคาร แผนผังห้องปฏิบัติการ ทางเข้า ทางออก ทางหนีไฟ
  • ผู้ทดลองต้องรู้ตำแหน่งอ่างล้างหน้า ตำแหน่งเครื่องดับเพลิง จุดทิ้งกากสารเคมี

2. ด้านการแต่งกาย

  • ผู้ทดลองต้องสวมเสื้อคลุมปฏิบัติการ หรือเสื้อกาวน์
  • ผู้ทดลองต้องสวมรองเท้าหุ้มปลายเท้า ห้ามสวมรองเท้าแตะ
  • ผู้ทดลองต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันให้เรียบร้อย เช่น หน้ากาก ถุงมือ แว่นนิรมัย งดใช้คอนแทคเลนส์ ขณะทำการทดลอง
  • ผู้ทดลองไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้ารุ่มร่าม และรวบผมให้รัดกุม
  • ผู้ทดลองควรควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางขณะอยู่ในห้องปฏิบัติการ

3. ด้านการปฏิบัติการ

  • ผู้ทดลองต้องทำการทดลองด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อหรือหยอกล้อกัน
  • ผู้ทดลองต้องไม่ทำการทดลองใดๆ นอกเหนือไปจากการทดลองที่มีไว้ในคู่มือปฏิบัติการ หรือที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ผู้ควบคุมเท่านั้น
  • ในการทดลองที่เกี่ยวข้องกับสารที่มีกลิ่นรุนแรงหรือเป็นแก๊สพิษให้ทำการทดลองในตู้ดูดไอสารเท่านั้น (ขั้นตอนการทดลองจะระบุในคู่มือ ผู้ควบคุมจะแจ้งเตือน)
  • ห้ามสูบบุหรี่ ในห้องปฏิบัติการ
  • ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ในห้องปฏิบัติการ
  • ห้ามชิมสารใดๆ และหลีกเลี่ยงการดมสารเคมีโดยไม่จำเป็น
  • ห้ามทิ้งเศษไม้ขีดไฟ กระดาษกรอง กระดาษลิตมัส ลงในอ่างล้าง ให้ทิ้งลงในถังขยะเท่านั้น
  • ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดืมไปแช่ในตู้เย็นแช่สารเคมี
  • หากมีสารเคมีหกต้องรีบทำความสะอาดทันทีด้วยวิธีที่เหมาะสม
  • กรดหรือด่างหรือสารเคมีที่เป็นอันตรายหกรดผิวหนังหรือเสื้อผ้าให้รีบล้างด้วยน้ำทันที
  • ทิ้งสารเคมีอันตรายในถังเก็บสารเคมี (อาจารย์ผู้ควบคุมจะแจ้งให้ทราบ)
  • หากผู้ทดลองเกิดอุบัติเหตุในขณะทำการทดลองไม่ว่าจะเล็กน้อย เช่นเศษแก้วบาด ขวดสารแตกหรือไฟใหม้ ต้องรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทุกครั้งต่ออาจารย์ผู้ควบคุม (แบบฟอร์มรายงานอุบัติเหตุ)
  • เมื่อเกิดไฟไหม้ในห้องปฏิบัติการ ผู้ทำการทดลองต้องประเมินว่าจะสามารถระงับไฟได้หรือไม่ แต่ถ้าประเมินแล้วไม่สามารถทำได้ให้รีบออกจากห้องทันที
  • เมื่อมีการถ่ายเทสารออกมา  ต้องมีฉากติดชื่อสารไว้ด้วยเสมอ
  • ไม่เทสารเคมีที่เหลือลงในขวดสารเดิม  เนื่องจากเกิดปนเปื้อน
  • ล้างอุปกรณ์  เครื่องมือ  และความสะอาดพื้นที่หรือบริเวณที่ทดลอง ปิดน้ำ ปิดแก๊ส ปิดไฟเมื่อทำการทดลองเสร็จ
  • กากสารเคมีที่เกิดจากการทดลอง  ต้องแยกประเภท  และรวบรวมใส่ขวดพร้อมติดฉากชื่อกลุ่มสาร เพื่อสะดวกในการนำไปกำจัดต่อไป
  • เมื่อทำงานเกี่ยวกับสารเคมีเสร็จแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ

ข้อแนะนำสำหรับการเข้าทำการทดลอง

1) ก่อนทำการทดลอง

  1. นักศึกษาต้องอ่านคู่มือปฏิบัติการมาก่อนทุกครั้งเพื่อทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ หลักการ วิธีการทดลอง วางแผนงานการทดลอง วิธีเตรียมสารละลาย ตลอดจนเทคนิคและข้อควรระวังต่างๆ การเตรียมความพร้อมจะช่วยป้องกันความผิดพลาดและช่วยให้การทดลองเสร็จทันเวลา
  2. สิ่งของจำเป็นที่ต้องเตรียมสำหรับเข้าทำการทดลอง
    • คู่มือปฏิบัติการ สมุดบันทึก เครื่องคิดเลข
    • เสื้อคลุมปฏิบัติการและแว่นตา
    • กระดาษทิชชูและผ้าเช็ดโต๊ะ
  1. นักศึกษาต้องมีสมุดบันทึกวิธีการทดลองอย่างย่อ เป็น Flow chart ออกแบบตารางบันทึกผลการทดลองและผลการทดลองที่สังเกตได้
  2. เมื่อเข้าห้องปฏิบัติการแล้ว
    • ให้นักศึกษาเขียนชื่อเข้าทำปฏิบัติการ
    • ตรวจอุปกรณ์ประจำกลุ่ม (ตู้) ว่าอยู่ในสภาพปกติและครบถ้วนตามใบแจ้งรายการอุปกรณ์หรือไม่ (กรณีไม่ครบหรือสภาพไม่สมบูรณ์ให้แจ้งต่ออาจารย์ควบคุมทราบทันที)
    • แต่ละกลุ่มต้องส่งสรุปวิธีการทดลองก่อนทำการทดลองทุกครั้ง (เขียนในสมุดบันทึกผลหรือกระดาษ A4)
    • นักศึกษาที่ขาด หรือสายเกินเวลา 30 นาที ไม่อนุญาตให้ส่งรายงานการทดลองนั้นๆ เว้นแต่มีเหตุสำคัญหรือจำเป็น แต่ต้องมีการรับรองจากแพทย์ หรือผู้ปกครองหรืออาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งจะพิจารณาให้ทำการทดลองภายหลัง
  1. ก่อนเริ่มทำการทดลองอาจารย์ผู้ควบคุมจะทำการอธิบายรายละเอียดของการทดลอง นักศึกษาต้องมีความสนใจและจดบันทึกเมื่อมีขั้นตอนที่ต่างจากระบุไว้ในคู่มือปฏิบัติการ หรือสิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันความผิดพลาดและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

2) ขณะทำการทดลอง

  1. นักศึกษาปฏิบัติตามขั้นตอนและคำแนะนำของผู้ควบคุมอย่างเคร่งครัด
  2. นักศึกษาต้องมีความระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อหรือหยอกล้อกัน ไม่ทำการทดลองใดๆ ที่นอกเหนือไปจากการทดลองที่มีไว้ในคู่มือหรือที่ผู้ควบคุมแนะนำเพิ่มเติม
  3. กรณีผลการทดลองผิดปกติจากระบุในคู่มือให้นักศึกษาแจ้งอาจารย์ก่อนทำขั้นตอนต่อไป
  4. ควรเขียนฉลากของเครื่องแก้วหรือสารเคมีเพื่อป้องกันความสับสน หรือใช้สารผิดในการทำการทดลอง

3) หลังการทดลอง

  1. เมื่อทำการทดลองเสร็จเรียบร้อย นักศึกษาต้องทำความสะอาดเครื่องแก้ว อุปกรณ์ และเก็บให้เรียบร้อย พร้อมตรวจเช็คจำนวนถูกต้องตามใบแจ้ง (กรณีไม่ครบเนื่องจากสูญหาย แตกหัก แจ้งอาจารย์ทันที)
  2. ให้ส่งรายงานการทดลอง นักศึกษาต้องส่งรายงานการทดลอง 2 ประเภทคือ
    • ประเภทรายงานสั้น (short report) คือผลการทดลองและสิ่งที่ได้จากการทดลองนั้นๆ เช่น การคำนวณ กราฟ  ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ให้ส่งหลังการทดลองทุกครั้ง
    • ประเภทรายงานสมบูรณ์ (full report) รายงานที่จัดทำเป็นรูปเล่มตามกำหนด ซึ่งอาจกำหนดเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม ให้ส่งในวันทำการทดลองสัปดาห์ถัดไป
    • รายงานฉบับที่ส่งหลังกำหนดจะไม่พิจารณาตรวจหรืออาจจะได้คะแนนเพียงตามส่วนที่ผู้สอนเห็นว่าเหมาะสม
  3. การเขียนรายงานการทดลองควรกระชับและมีรายละเอียดครอบคลุมการทดลองนั้น แสดงผลการทดลอง อภิปรายผลการทดลองว่ามีความสอดคล้องกับทฤษฎีหรือไม่ อย่างไร สามารถระบุสาเหตุความคลาดเคลื่อนได้